วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วันครู โรงเรียนปกรณ์ 16 มกราคม 2558



วันครูซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ลูกศิษย์ของอาจารย์ปกรณ์ จะกลับมาแสดงความกตัญญูรู้คุณต่ออาจารย์ที่ให้ความรู้อันมีค่าที่หาที่เปรียบไม่ได้ และในวันนี้ของทุกปี จะมีการมอบประกาศนียบัตรสำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี

















อาจารย์ ปกรณ์ วุฒิยางกูร . . . ผู้ปลูกต้นกล้าให้แก่วงการแฟชั่น



ในวงการแฟชั่นเสื้อผ้า หากเอ่ยถึงชื่อของอาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร เจ้าของโรงเรียนปกรณ์ หรือในชื่อเต็มว่า สถาบันสอนแฟชั่นแพทเทิร์นเมคกิ้ง เดรปปิ้ง และมูลาจ ขั้นซึ่งเป็นสถาบันสอนแฟชั่นขั้นสูงแห่งแรกของไทย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะดีไซน์เนอร์ซื่อดังในเมืองไทยหลายคนล้วนเป็นต้นกล้าที่อาจารย์ปลูกไว้แทบทั้งสิ้น


อาจารย์ปกรณ์เล่าว่า . . . สิ่งที่จุดประกาย ให้เขาเข้ามาอยู่ในวงการแฟชั่นเสื้อผ้าอย่างจริงจังนั้นก็คือ การประกวดนางงาม แทนที่จะเรียนด้านบัญชีตามความต้องการของทางบ้าน


ตอนนั้นได้ดูการประกวดนางงาม เวทีแรกคือ เวทีที่สวนลุมพินี เลยเกิดแรงบันดาลใจและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้เสื้อผ้าออกมาสวยที่สุด ให้ผู้หญิงสวยๆได้ใส่ คิดว่าจะทำอย่างไรให้เสื้อผ้าของเราดูสวยที่สุด ดูโก้ และขึ้นเวทีได้ เลยเบนเข็มมาศึกษางานด้านเสื้อผ้าอย่างจริงจัง


หลังจากที่ร่ำเรียนวิชาการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูงและทำงานหาประสบการณ์ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศแถบยุโรปนานกว่า 7 ปี อาจารย์ปกรณ์จึงกลับมาเปิดโรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้าในเมืองไทย และสอนด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู


ด้วยความรักประเทศไทยอยากให้ดีไซน์เนอร์ไทยสร้างเสื้อผ้าสวยๆ ขึ้นมาเมื่อมีโอกาสได้ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูงที่ประเทศฝรั่งเศสและอเมริกาจึงอยากนำความรู้นั้นกลับมาสอนคนไทยให้สร้างเสื้อผ้าได้สวยไม่แพ้ชาติอื่น แม้ว่าตอนที่กลับมานั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังรู้สึกว่าสอนได้ไม่สวยมาก เลยตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนอย่างจริงจัง เคยจ้างครูมาสอนแล้วก็ไม่เหมือนกับเราสอนเอง อาจเพราะเรามีใจรักที่จะสอน อยากถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างแก่นักเรียน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนก็มีความสนใจในพื้นฐานในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน การสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนและลงรายละเอียดเป็นรายบุคคลไป

แม้ค่าเรียนการตัดเย็บเสื้อผ้าขั้นสูงจะมีราคาค่างวดที่สูง แต่ความสุขของบรมครูท่านนี้เกิดขึ้นจากการที่ได้สอนและความภูมิใจที่ได้เห็นลูกศิษย์สร้างสรรค์เสื้อผ้าสวยๆ และมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต



"
จุดสูงสุดในชีวิตนี้คือ ความเป็นครูเพราะสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขในทุกๆวัน คือ การได้สอนลูกศิษย์ เรียกได้ว่าภูมิใจและดีใจมากที่ได้เป็นครู และจะสอนลูกศิษย์ทุกคนอย่างใกล้ชิดแบบนี้ไปจนกว่าจะสอนไม่ไหว เพราะการสอนคือ สิ่งที่เรารัก และทำให้มีความสุขมาก และอยากให้ลูกศิษย์ทำเสื้อผ้าสวย ๆ ออกมา และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง สวยงามแล้วเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์บ่มเพาะไว้ ก็ได้ผลิตงานสร้างสรรค์ให้แก่วงการแฟชั่นไทยได้สมดังที่อาจารย์ตั้งใจไว้อย่างงดงาม"

คลิปวีดีโอ สัมภาษณ์ อาจารย์ ปกรณ์ วุฒิยางกูร



บทสัมภาษณ์ สกุลไทย

สัมภาษณ์พิเศษ นิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ ๓๐๐๗ ประจำวันอังคารที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕


   


ปกรณ์ วุฒิยางกูร “ครูสอนตัดเสื้อระดับตำนานของเมืองไทย

        แม้ไม่ใช่ช่างเสื้อ ไม่ใช่แม้แต่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้าใดๆ ก็ต้องรู้สึกถึง “พลัง” บางอย่างเมื่อเข้าไปในห้องที่เต็มไปด้วยชุดราตรีอันสวยงามวิจิตร อวดความงามของเสื้อผ้าอาภรณ์และความสามารถของช่างเสื้ออย่างสง่าผ่าเผยโดยไม่ต้องมีคำพูดใดมาบรรยาย
ที่โรงเรียนปกรณ์ หรือในชื่อเต็มว่า “โรงเรียนปกรณ์ สถาบันสอนแฟชั่น แพทเทิร์น เมคกิ้ง เดรปปิ้ง และ มูลาจชั้นสูง” แห่งนี้ เป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่งของคนที่รักการตัดเย็บเสื้อผ้า มีชุดราตรีงดงามในแบบต่างๆ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วอยู่ในหุ่น และบางชุดกำลังอยู่ในระหว่างขึ้นแบบนักเรียนบางคนกำลังวาดแบบ สร้างแพทเทิร์น มีเสียงหัวเราะพูดคุยของผู้คนที่รักในสิ่งเดียวกัน โดยมี อาจารย์ ปกรณ์ วุฒิยางกูร เป็นครูใหญ่ คุมบังเหียนสอนการตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยตนเองทุกขั้นตอน-บัญชาการอยู่ที่โต๊ะกลางห้อง
สำหรับผู้ที่สนใจการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า ชื่อของ อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร และ โรงเรียนปกรณ์ฯ เป็นที่รู้จักกันดีในแง่ของคุณภาพในด้านการเรียนการสอน ทั้งจากชื่อเสียงส่วนตัวของอาจารย์ในฐานะช่างตัดเสื้อที่ได้รับการยอมรับมายาวนาน และชื่อเสียงของสถาบันสอนตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้คำว่า “ชั้นสูง” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย กว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างนักออกแบบ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าและเจ้าของห้องเสื้อชั้นนำของเมืองไทยมากมาย อาทิ Modern Pin อารดา Barbic-de-Art มิลาน Surface, Chez-nu เมธาวี ปฏิมา ชีวัน คำรณ ฯลฯ
ช่างเสื้อและดีไซเนอร์ที่เก่ง ย่อมต้องมี “ครู” ที่เก่งจึงจะประสบความสำเร็จได้... อาจารย์ปกรณ์เคยเป็นทั้งช่างตัดเสื้อและดีไซเนอร์ที่เก่งและมีชื่อเสียงมากในอดีต แต่ในวันนี้คำกล่าวที่อาจารย์ปกรณ์นิยามถึงตนเองคือ “ครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้า” ที่มุ่ทำงานเพื่อตอบแทนสังคมมากกว่าใขว่คว้าหาเงินทองหรือเกียรติยศชื่อเสียง
ในห้องนั้น “ความเป็นครู” ของอาจารย์ปกรณ์ปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกที่ ในทุกถ้อยคำสนทนาและอยู่บนฝาผนังห้องที่มีคำขวัญติดไว้ให้ลูกศิษย์ได้อ่านเป็นเครื่องเตือนใจ หนึ่งในนั้นคำคำขวัญที่ว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อันนับแสนนับล้าน”
“ทรัพย์อันนับแสนนับล้าน” ในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าของอาจารย์ปกรณ์เริ่มต้นเมื่อครั้งเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ ๓  และพบว่าตนเองสนใจการตัดเย็บเสื้อผ้ามากจนถึงขั้นอยากจะเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว
                อาจารย์เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า
                “ความรู้สึกอยากเรียนมันเกิดขึ้นมาเองเหมือนคนอยากเป็นหมอก็อยากจะเป็น ผมอยากเป็นช่างเสื้อ ชอบออกแบบ ผมทำเสื้อผ้าเป็นตั้งแต่ ม.๓ เมื่อก่อนจะมีร้านหนึ่งชื่อร้าน Living เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของแม่ชีฝรั่งอยู่แถวบางขุนพรหม เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อโรงเรียนแรกๆ ที่พวกแหม่มสอนก็ไปของเขาเรียน เขาก็ไม่รับ เพราะเราเป็นผู้ชาย เราก็ขอเขา ขอเรียนตอนเย็น จนเขาสงสารก็เลยสอนให้ สมัยนั้นสร้างแบบกันบนหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่มีกระดาษสร้างแบบเหมือนสมัยนี้ แล้วก็สมัยก่อนไม่ค่อยมีคัทติ้ง ง่ายๆ แบบแสคง่ายๆ แล้วก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แบบเสื้อเราก็ดูแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก จากฮอลลีวู้ด ฝรั่งเศส ดีไซเนอร์ก็ไม่มี เพราะว่าพูดกันตามตรง คนไทยจะรับจากเมืองนอทั้งนั้น ออกแบบให้ตาย เขาก็ต้องเอาแบบของนอกมาใช้”
                หลังจากเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ อาจารย์ปกรณ์ได้ไปศึกษาต่อด้านบัญชีที่สหรัฐอเมริกาแต่ต่อมาภายหลังจึงเบนเข็มไปเรียนด้านการเรือนและเสื้อผ้าสตรีที่ Hollywood College และ Swinburne School of Household Arts หลังจากนั้นได้ไปศึกษาวิชาการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูงที่ประเทศฝรั่งเศส
                “หลังจากจบ ม.๘ แล้วก็ไปที่อเมริกาก่อน ตอนนั้นทางบ้านอยากให้เรียนบัญชีอย่างเดียว แต่เราไม่ชอบ ก็ไปเรียนที่ยูทาห์ปีหนึ่ง แล้วก็เลิกเรียนเลย ไม่ชอบ อากาศก็หนาว แล้วก็เลยไปอยู่บอสตัน เบนเข็มไปเรียนเกี่ยวกับการเรือน เกี่ยวกับพวกเสื้อผ้าผู้หญิงอยู่ ๒ ปี หลังจากนั้นก็กลับมาเมืองไทย ทำงานสักพักก็ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เพราะว่าเสื้อผ้าฝรั่งเศสสวยที่สุด สวยกว่าที่นิวยอร์ก โครงสร้างต่างๆ สวยกว่าเยอะ แพทเทิร์นก็สวย พวกที่จบจากอังกฤษหรือนิวยอร์กก็สู้ฝรั่งเศสไม่ได้ ความละเอียดก็มาก ชุดหนึ่งทำกันหลายวัน บางทีทำกันเป็นเดือน ฝรั่งเศสเป็นเจ้าแห่งแฟชั่นจริงๆ ต้องยอมรับ
อยู่ที่นั่นเราก็ได้รับวัฒนธรรมต่างๆ วัฒนธรรมการแต่งกาย เขาสอนทุกอย่างเลย ตั้งแต่การออกแบบเสื้อผ้า เสื้อสำเร็จรูป มูลาจ (Mulage) โชอต์ กูตูร์ (Haute Couture) สอนเป็นคอร์สๆไป ผมไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ๗ ปี ช่วงนั้นก็กลับบ้านบ้าง ทำงานแล้วก็เก็บเงินไปเรียน จนกระทั่งจบ”
อาจารย์ปกรณ์ได้รับประกาศนียบัตร เกียรตินิยม จาก ๗ สถาบันในประเทศฝรั่งเศส อาทิ Academie Internationale de Coupe de Paris, Universite de Coupe et de Haute Couture de Paris, L’ecole Speciale des Arts et Techniques de la Mode Esmod ฯลฯ ในระหว่างนั้นก็ได้กลับเมืองไทยมาทำงานเพื่อเก็บเงินไปเรียนเป็นช่วงๆ โดยใช้เวลาร่ำเรียนวิชาการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง ทำงาน ดูงานและหาประสบการณ์ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศในแถบยุโรปนาน ๗ ปี
“ช่วงที่กลับมาทำงานก็เปิดโรงเรียน พอเก็บสตางค์ได้ก็กลับไปเรียนที่ฝรั่งเศส สมัยก่อนผมเริ่มด้วยการทำผมก่อน แต่ไม่ชอบ เพราะต้องใช้สเปรย์ ในห้องมีแต่สเปรย์ ทำแล้วไม่มีความสุข มีเศษผม ไม่สนุก ก็เลยมาตัดเสื้อ ความจริงตัดเสื้อเป็นก่อนทำผม แต่ถ้าจะเอาเงินเร็วๆ หาเงินได้เร็วก็ทำผม ง่ายกว่า ๓-๖ เดือน ทำงานได้แล้ว แต่ระยะทางในการทำงานของช่างผมมันสั้น ๑๐ ปี ยืนไม่ไหวแล้ว แต่ช่างเสื้อนี่ ทำกันจนแก่ ทำได้ถึง ๖๐-๗๐ ตอนนี้อาจารย์ก็ ๖๕ แล้วนะครับ (หัวเราะ)
แต่ก่อนโรงเรียนก็ยังไม่มีมาก มีของหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ที่ดังหน่อย ทางเป็นช่างเสื้อที่อาจารย์ชอบมากที่สุด คนนี้อาจารย์ยกให้เป็นบรมครู ทางออกแบบอัญมณีได้สวยงามมาก ทำได้หลายๆอย่าง อาจารย์ยอมแพ้อยู่คนเดียว เสียดายที่ท่านเสียชีวิตเร็ว ส่วนโรงเรียนอื่นๆในสมัยก่อน ก็มี คุณสปัน เธียรประสิทธิ์ แล้วก็คุณพรศรี คุณระพี ซึ่งเวลานี้หลายโรงเรียนก็ปิดตัวไป คุณพรศรีก็ปิดไปแล้ว เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนไม่ตัดเสื้อใส่กันแล้ว ซื้อใส่เพราะถูกดี เร็วดี สะดวก คนทำโรงเรียนสอนตัดเสื้อก็ทำใจรักจริงๆ
จริงๆแล้วคุณแม่ค้านมากเรื่องทำโรงเรียน เพราะทำเสื้อนี่รายได้ดีมาก ได้กำไรทุกเดือน เดือนละเยอะๆ เมื่อก่อนมีช่าง ๔๐ คน ตอนอยู่เซนคาเบียล รับตัด ชื่อร้านศรีทอง เป็นของคุณแม่ แต่หลังจากนั้นก็ตัดสินใจว่าไม่รับแล้ว เพราะว่านักเรียนไม่ได้เต็มที่ ชั่วโมงหนึ่งมานั่งคุยกับแขก ชั่งโมงหนึ่งมานั่งวัดตัว นักเรียนมานั่งรอไปเถอะ คุณแม่ก็ถามว่าอยากจะรวยหรืออยากจะทำบุญทำทานแต่เป็นคนจน เราบอก...ทำบุญทำทานดีกว่า เงินน่ะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ พอตัดสินใจได้แล้วก็เอาเวลามาสอนนักเรียนทั้งวัน ไม่รับแขก ไม่รับตัดเสื้อเลย  ลูกค้าเก่าๆก็มีเยอะ บางคนก็โทรมา บอกว่า คุณชาย.. ผมชื่อเล่นว่าชาย คุณชายตัดเสื้อให้ชั้นหน่อยสิคะ ตัดกี่ร้านก็ใส่ไม่สวย ก็บอกว่าผมไม่ได้รับตัดแล้ว สวนหนึ่งเพราะว่าการตัดเสื้อมันเอาเวลาไปมาก ต้องนั่งเลือกผ้า เลือกแบบ นักเรียนก็มานั่งรอกันตาย เคยทำคู่กันแล้วไม่ดี ถ้าอย่างหนึ่งดี อย่างหนึ่งจะเสีย พูดง่ายๆ อย่างเหยียบเรือสองแคม...ล่ม ก็เลยเปิดสอนอย่างเดียว แต่คุณแม่ก็อยากให้ตัดเสื้อ เพราะรวยกว่า รายได้มากกว่า แต่อาจารย์คิดว่าอย่างนี้ดีกว่า เราได้สอนนานๆ ได้ทำให้คนเป็นช่างเสื้อที่ดีหลายต่อหลายคน ดีกว่าเราเก่งอยู่คนเดียว ครูดี... ไม่ใช่ชมตัวเองนะ หายาก บางคนเรียนตั้ง ๖ ที่ เรียนมาหมดแล้ว เขายังทำไม่ได้ แล้วก็มาที่นี่ เราก็เปิดตำรานอกให้เรียน ไม่ปิดบัง ของเราใครอยากมาเปิดดูก็เปิด แปลไม่ออก อาจารย์แปลให้ แต่อยากทำโรงเรียนเพราะอยากให้ความรู้เป็นวิทยาทาน”
                นอกจากเปิดโรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้าของตนเองแล้ว อาจารย์ปกรณ์ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษในหลายสถาบัน อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ฯลฯ และได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมครู-อาจารย์สอนคหกรรมศาสตร์ สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย สังกัดกรมอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๓๔ นอกจากนั้นยังได้เป็นกรรมการร่างหลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า ปวช. และ ปวส. แต่ในปัจจุบันด้วยภาระหน้าที่ในการสอน ทำให้ต้องหยุดงานเหล่านั้นและสอนที่โรงเรียนปกรณ์ฯเพียงอย่างเดียว โดยเปิดเป็นหลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง เสื้อผ้าสำเร็จรูป การตัดเย็บเสื้อผ้าบนหุ่น (มูลาจ) และเดรปปิ้ง และหลักสูตรพิเศษเสริมทักษะ การสร้างแพทเทิร์นเสื้อผ้าสมัยใหม่สำหรับเจ้าของร้านตัดเสื้อ ช่างเสื้อ อาจารย์สอนตัดเสื้อ และผู้ที่อยู่ในวงการเสื้อผ้า โดยเปิดรับนักเรียนคอร์สหนึ่งๆไม่เกิน ๑๐ คน
                อาจารย์ปกรณ์เล่าว่าในอดีตร้านตัดเสื้อมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในยุคนั้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ผู้คนจึงนิยมตัดเสื้อใส่กันมากแต่ปัจจุบันคนนิยมใส่เสื้อสำเร็จรูปมากกว่า เพราะประหยัดทั้งเงินและเวลา ถึงกระนั้นก็ตามห้องเสื้อและช่างตัดเสื้อก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะช่างตัดเสื้อที่สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีชั้นสูง ซึ่งหมายถึง ชุดราตรี ชุดแต่งงาน ชุดในอากาสพิเศษต่างๆ
“เมืองไทยเราเมื่อก่อนมีร้านตัดเสื้อเยอะแยะ แต่เดี๋ยวนี้หดหายไป กลายเป็นเสื้อสำเร็จรูปหมด คนไม่ตัดเสื้อกัน คนที่สวยอยู่แล้ว รูปร่างดีก็ไม่ต้องไปตัด คนที่ตัดเสื้อก็จะเป็นคนที่รูปร่างใหญ่ อ้วน หรือผิดส่วน ซื้อเสื้อผ้าใส่ไม่ได้เลยซักไซส์หนึ่ง จนต้องไปหาช่างตัด เราถึงต้องเน้นการวัดตัวมากสำหรับคนที่รูปร่างแปลกๆ ออกไป ไม่ใช่ Standard (ขนาดมาตรฐาน) ตัดยังไงให้เขาใส่เสื้อแล้วสวย อย่างช่างที่ตัดชุดแต่งงานก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ เสื้อกลางวันนี่คนเขาเลือกได้ ซื้อเอาก็ได้ นอกจากจะแต่งงานถึงจะไปจ้างเขาตัด แต่เสื้อกลางคืนอย่างเสื้อราตรี เป็นเสื้อในโอกาสพิเศษ ช่างที่ทำเสื้อเหล่านี้ถึงมีอากาสอยู่ได้
ถึงแม้เดี๋ยวนี้คนนิยมเรียนตัดเสื้อกันน้อย อาจารย์ก็พอใจจะสอนน้อยๆด้วย ไม่เหนื่อยมาก จะไม่ให้เกิน ๑๐ คน ถ้าเกินจะหยุดรับเลย เมื่อก่อนรับถึง ๔๐ คน มีอาจารย์ช่วยสอน ก็ไม่ได้เรื่อง สู้สอนเองดีกว่า ถูกใจเราด้วย เด็กออกไปก็เก่งด้วย จ้างคนมาสอนหรือให้ลูกศิษย์สอนก็ไม่ไม่เหมือนเราสอน ปั้นเองดีกว่า”
                ในชั้นเรียนที่ไม่ใหญ่โตและรับนักเรียนไม่เกินคอร์สละ ๑๐ คนของอาจารย์ปกรณ์นี้ บางคนกำลังเริ่มต้นเดินบนเส้นทางสายนี้ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นช่างเสื้อ บางคนผ่านการเรียนลองผิดลองถูกมากมาย ทั้งนักเรียนและอาจารย์ทราบดีว่าไม่ง่าย... กว่าจะเรียนจบออกไปประกอบอาชีพช่างเสื้ออย่างที่ใฝ่ฝัน หากปราศจากความตั้งใจจริงและความสามารถเฉพาะตัว
                “การสอนสำคัญมาก เพราะแต่ละคนความรู้มาไม่เท่ากัน ค่อยๆสอน เขารับมากรับน้อย ไม่เท่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดา อาจารย์ก็พยายามสอนให้ดีที่สุด สอนด้วยตัวเอง ไม่จ้างคนอื่นสอน แล้วก็ค่อยๆสอน ออกแบบบ้าง ตัดเย็บบ้าง ต้องใจเย็น เป็นครูต้องใจเย็นมาก เย็นมากๆ อย่างชุดหนึ่งเฉพาะด้านล่าง ใช้เวลาเดือนหนึ่ง ใช้มือทำ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ หรือไม่มีแววด้านนี้จะไม่ให้เขาต่อคอร์สเลย ไม่ใช่ต่อเอาๆ เพื่อให้ได้เงิน ไม่ ถ้ารู้ว่าเขาไปไม่รอดก็จะไม่ต่อ บางคนลงเรียน ๕ เดือน แต่เขายังไม่ได้ตามที่อาจารย์ต้องการ เราก็ต่อให้ฟรีอีกออกไปอีก ๔ เดือน เพราะเขายังไม่ถึงระดับที่เราจะปล่อยออกไป การสอนนี่เราทำเป็นวิทยาทานด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่เงิน บางที ๖ เดือนเขาไปไม่รอด ต้องต่อให้เขาฟรี ใครไม่ผ่านมาตรฐานเราไม่ปล่อยไป
เป็นครูต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่านักเรียนเรียนจบคอร์ส ให้เราเรียนเพิ่มอีก ดูว่าเขาไปถึงเกณฑ์ที่เราตั้งไว้หรือเปล่า ทีนี้เกณฑ์การเรียนนี่ยาก เพราะตำรา ๑๓ เล่ม นักเรียนต้องเรียนตำราทุกเล่ม มีสอนทุกอย่าง ขั้นตอนในการเรียน เป็นตำราของอเมริกา เยอรมนีและฝรั่งเศส คอร์สหนึ่ง ๕ เดือน มีการเรียน ๑ วัน สองวัน หรือ ทุกวัน ราคาก็จะแตกต่างกันออกไป แต่เรียนมากวันก็ยิ่งได้ความรู้มาก เรียนน้อยวันก็ได้น้อย เป็นธรรมดา”
ตำรา ๑๓ เล่มของอาจารย์ปกรณ์จะวางอยู่ข้างๆโต๊ะทำงาน ลูกศิษย์คนใดมีปัญหาก็สามารถหยิบมาเปิดดูได้ทุกเมื่อ หากมีข้อสงสัยก็สามารถขอคำอธิบายจากอาจารย์ได้ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นการสอนของอาจารย์ปกรณ์เน้นการให้เคล็ดลับอย่างไม่มีการปิดบัง เพื่อให้ความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างไม่มีข้อจำกัด
“วิชาการตัดเสื้อนั้นมีเคล็ดลับมากมาย การทำเสื้อผ้าเริ่มต้นจากการออกแบบ เราต้องเลือกแบบที่ลงตัว จากนั้นก็สร้างแพทเทิร์น ทุกอย่างต้องคำนวณด้วยระบบเรขาคณิต แต่ต้องอิงกับความเป็นจริงด้วย ต้องเน้นความเป็นจริงถึงจะเรียกว่าเสื้อผ้าชั้นสูงได้ อาจารย์ชอบเสื้อที่ Practical ใช้การได้จริง ไม่ใช่ว่าออกแบบไปแล้วใส่ไม่ได้ ทุกชุดต้องใช้การได้ ออกงานได้ โก้ หรูหรา ไม่ใช่ว่าใส่ไม่ได้ เดินถนนไม่ได้ หลักใหญ่คือต้องให้ชุด Practical ให้มากที่สุด อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์เน้นมากก็คือคัทติ้ง แล้วก็ซิลลูเอท Silhouette (หมายถึงเส้นกรอบนอกโครงร่างของเสื้อ) จะไม่เหมือนที่อื่นที่บางทีจะกางออกโน่นออกนี่ แต่เส้นเราจะเนียน
เอกลักษณ์อีกอย่างของเราคือตัวอาจารย์สอนเอง ไม่ได้จ้างคนสอน ถ้าเราจ้างคนอื่นสอนสิบคนก็สอนไม่เหมือนกัน แต่อาจารย์สอนเอง ถึงจะนักเรียนน้อยหน่อยแต่เราก็ปั้นได้ สอนคนก็สอน สิบคนก็สอน ยี่สิบ สี่สิบกว่าคนก็เคยสอน แต่เดี๋ยวนี้นักเรียนหายาก คนไม่ยอมเรียนแล้ว คนที่มาเรียนคือต้องรักจริงๆ บางคนเป็นหมอมาเรียนเพราะอยากตัดเสื้อผ้าใส่เอง เป็นความภูมิใจของเขา แต่การตัดเสื้อไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าเขารักมาทางนี้ เขาจะขวนขวาย สมัยก่อนเด็กจบ ป.๔ เรียนอะไรไม่ได้แล้วมาเรียนเย็บเสื้อ เดี๋ยวนี้จบปริญญาก็มาเรียน บางคนอยากทำเสื้อสำเร็จรูป แต่ทำสักพักก็เบื่อ เราก็มีหลายอย่างให้เขาเลือก บางคนไม่เอาเลย วาดรูปอย่างเดียว อยากเป็นนักออกแบบอย่างเดียว แต่อาจารย์จะบอกเสมอว่ามันต้องคู่กัน ต้องทำเป็นถึงจะออกแบบได้ ถ้าทำไม่เป็น จะออกแบบได้อย่างไร จะเห็นว่ามีหลายโรงเรียนที่มุ่งสอนแต่ออกแบบ แต่เรียนจบออกมาแล้ว ทำงานไม่เป็น เช่น กระเป๋าเด็กไม่รู้ว่าตำแหน่งของกระเป๋าอยู่ตรงไหน ก็วาดกันมั่ว ผู้สอนก็ไม่มีความรู้เรื่องตัดเสื้อผ้า ก็ยิ่งไปกันใหญ่ต้องรู้จัก Detail (รายละเอียด) ของเสื้อผ้าทั้งหมด Position (ตำแหน่ง) ของปก แขน กระเป๋า ไม่ใช่ว่า นึกจะวาดก็วาดกันสนุก แนะนำว่าคนที่จะเรียนออกแบบ เรียนตัดเสื้อก่อน พอตัดเสื้อได้บ้างแล้ว ถึงมาออกแบบ จะได้รู้ปัญหา ไม่งั้นจะมั่วไปหมด
ลูกศิษย์แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนถนัดทำบูติก บางคนถนัดทำไฮคลาส บางคนถนัดเทเลอร์สไตล์ สอนไปสักพักจะรู้ว่าคนไหนถนัดอะไร เป็นครูต้องทราบว่าลูกศิษย์คนไหนเก่งอะไร เวลาสอนเราต้องรู้ว่าคนไหนตั้งใจไม่ตั้งใจ คนไหนเก่ง คนไหนพอไปได้ ต้องทราบ แค่ส่งแพทเทิร์นตัวแรกก็รู้แล้วว่าเส้นขนาดไหน น้ำหนักมือเท่ากันไหม มีความตั้งใจจริงไหม มันจะฟ้องบนเส้น เส้นมันจะฟ้องตัวมันเอง เส้น โครงสร้างต่างๆ บางคนแพทเทิร์นตัวแรกเละมาเลย เอาหน้ามาอยู่หลัง เอาหลังมาอยู่หน้า คนนี้ต้องจู้จี้หน่อยละ ต้องอดทน ทำใหม่ บางคนร้องไห้ อาจารย์ก็จะบอกให้ทำใหม่ กรุณาทำใหม่ เอาให้มันถูก บางคนพ่อแม่ส่งมาเรียน เสียดายเงินเขาแท้ๆ ค่าเรียนไม่ใช่ถูกๆ ไม่ตั้งใจเรียน อาจารย์ก็จะอบรม เป็นพ่อแม่ที่สอง เขาก็หนีไปเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง หนู เงินมีค่านะ สงสารพ่อแม่นะ พ่อแม่จ่ายมา ๕๐,๐๐๐ ทำไมหนูไม่ตั้งใจเรียน”
เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของโรงเรียนปกรณ์ที่ใครยากจะลอกเลียนแบบก็คือ “ครู” ที่ยังคงทำหน้าที่ “ครู” อยู่เสมอแม้ว่าลูกศิษย์จะเรียนจบคอร์สไปแล้ว บางคนออกไปประกอบอาชีพช่างตัดเสื้อ เป็นเจ้าของห้องเสื้อ แต่เมื่อใดที่ติดขัดอาจารย์ปกรณ์ก็ยินดีให้ความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อแม้
“คนที่มาเรียนต่อเขาจะรู้ตัวเขาเองว่าเขาทานข้าวอิ่มหรือยัง ถ้าไม่อิ่มเขาก็กลับมาอีก ทุกคนจะต้องรู้ว่าตัวเองเป็นยังไง แค่ไหน ทำงานแล้วเจอปัญหาอะไรบ้าง เขาก็กลับมาหาเรา เขามาก็ไม่ได้คิดสตางค์เพิ่ม บางคนบอกว่าหนูขอเรียนอีกสัก ๑๐ วันได้ไหม คิดตังค์ไหม ไม่คิด ไม่ต้องเสียแล้ว หนูจ่ายไปแล้ว หมดคอร์สแล้ว หนูอยากได้อะไรเพิ่มเติมก็มา บางคนมาก็มาเพิมทักษะให้ตัวเองมากขึ้น อยากรู้มากขึ้น อยากทำมากขึ้น อยากทำให้สวยมากขึ้น นั่นคือความอยากของช่างเสื้อที่แท้จริง ทำยังไงให้มันสวย ทำยังไงให้มันดูดี เมื่อนักเรียนเอาแบบมาให้ดู เราจะเปลี่ยนแบบเขายังไง เขาทำอย่างนี้เขาจำเจแล้ว เราก็ต้องดึงเอาส่วนที่ดีของเขาออกมา แล้วเพิ่มเติมเข้าไป แทรกทัศนคติที่ดีเข้าไป เพิ่มแรงบันดาลใจ อย่างลูกศิษย์ที่เก่งอยู่แล้วเราก็ผลักดันเขา ให้เขาออกแบบได้ เช่น เขาอยากได้ลักษณะเสื้อแบบนี้ เราก็ให้เขาออกแบบ แล้วก็ช่วยเขาทำ อย่างชุดกระดาษ ลูกศิษย์อยากจะทำ อาจารย์ก็จะออกแบบให้ก่อนในชุดแรกๆ ต่อมาก็ให้เขาทำ อย่างชุดที่เอามาวันนี้ อาจารย์ขอยืมมาให้สกุลไทดูโดยตรง แต่ละชุดมีความหมายทั้งนั้น ชุดเหล่านี้เป็นฝีมือการออกแบบของนักเรียน แต่อาจารย์ช่วยดู มาขึ้นแบบที่นี่ อาจารย์ก็ช่วยออกแบบช่วยดูให้ มีชุดแดงที่เจ้าฟ้าหญิง (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ของ Medern Pin สามชุดหลังของ Barbie-de-Art แล้วก็ของมิลาน อันนี้เป็นเจ้าแม่ มีร้านเจ้าสาวอยู่ ๗ ร้านด้วยกัน แล้วก็อารดา”
อาจารย์ปกรณ์เล่าถึงผลงานแต่ละชิ้นของลูกศิษย์ด้วยความภาคภูมิใจ สีหน้าและน้ำเสียงบ่งบอกถึงความสุขและทำให้สัมผัสได้ถึงเหตุผลที่ว่าทำไมอาจารย์จึงอดทนกับการเป็นครูสอนตัดเสื้อได้ยาวนานถึงสี่สิบกว่าปี
“ทำงานนี้ไม่เอากำไรเลย ดีที่มีอพาร์ตเม้นต์ให้เขาเช่า เรื่องสอนนี่ไม่ได้เงินเท่าไร หมดค่าน้ำค่าไฟ ค่าตำราแจกฟรี ที่นี่จะมีขนมให้ทานทุกวัน วางไว้โต๊ะกลาง บางวันก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงทั้งห้อง หาอะไรให้กินทุกวัน ไม่ให้อด กำไรก็ไม่ค่อยเหลือ แต่ทำด้วยความสุขเท่านั้น ไม่ได้หวังประโยชน์อย่างอื่นหรือเปิดเป็นการค้า แต่อยากเปิดเพื่อสอนลูกสอนหลาน ถ้าเขายังไม่จบชั้นต้นใน ๕ เดือน ก็ให้เขาเรียนต่อฟรี สงสารพ่อแม่เขา
ความสุขก็คือกำลังใจจากลูกศิษย์ เกินครึ่งที่เขาได้ทำงานที่เขารัก ประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆ ร้อยคนได้สัก ๕๐ คนก็พอใจแล้ว ไม่ต้องถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แค่ครึ่งเดียวก็พอใจแล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์เก่ง อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์พอเตาะแตะไปได้ พอหาเลี้ยงชีพได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือทีไม่ทำเลยก็มี ก็เลิกไป อันนี้พูดเปิดอกนะ ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ที่จบจากเราจะเก่งหมด แต่ใน ๕๐ เปอร์เซ็นต์นี้ถือว่าเขาเก่ง ร้านดังๆ ในกรุงเทพฯ จบจากปกรณ์ทั้งนั้น หลายร้าน บางร้านที่เขาไม่อนุญาต เราก็ไม่เอ่ย ในบางลำพู ๗ ร้านแล้ว ถ้าไปบางลำพูนี่ไม่อดตาย ลูกศิษย์เรียก เข้ามาก่อน หนูเลี้ยง (หัวเราะ)
สี่สิบกว่าปีลูกศิษย์จบจากเราถือว่าไม่มาก ๒๐๐-๓๐๐ คน อย่างรุ่นนี้ ๘ คน หรือแต่ละรุ่นไม่เกิน ๑๐ คน ถ้าเกินก็หยุดรับ พักก่อน อีก ๓ เดือนค่อยเข้าได้ ไม่ได้รับทุกวัน ถ้าทุกวันอาจารย์ก็ตาย(หัวเราะ) สมัยก่อนรับถึง ๓๐-๔๐ คน นักเรียนเยอะ แต่บางคนก็ไม่ได้เอ่ยชื่อเขา เพราะไม่ได้ขออนุญาตเขา แล้วเขาอาจจะอาย บางคนก็ไปบอกว่าฉันจบจากฝรั่งเศส แต่เปล่า..จบที่นี่ มีคนเอามาเล่าให้ฟัง เขาบอกจบจากฝรั่งเศส ก็ถามว่าชื่ออะไร ดูไปดูมา โถ ลูกศิษย์เรานี่แหละ มันก็น่าน้อยใจ แต่มันก็เป็นสิทธิของเขา แต่ลูกศิษย์เก่าๆที่น่ารักก็มีมาก เขามาหาในวันครูทุกปีเกือบร้อยกว่าคน ที่นี่แน่นเลย ปิดถนนได้เลย นักเรียนจะมากันเยอะมาก อาจารย์ก็จะลงมานั่งแต่เช้าถึงเย็นเลย มีอาหารเลี้ยงเขาตลอด เขาจะมีดอกไม้เต็มพานใหญ่ๆมา เป็นวันที่มีความสุขที่สุด ลูกศิษย์เขานึกถึงเรา บางคนเรียกพ่อก็มี เรียกป้าก็มี ลูกศิษย์ก็มีตั้งแต่อายุ ๒๐-๖๕ อย่างร้านเชอแตมที่มาบุญครอง อายุ ๖๕ ปี อายุเท่ากันเลย เขายังมาเรียน
คนที่ประสบความสำเร็จอาจารย์ก็ดีใจ แต่ถ้าเขาไม่สมหวัง ไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่รู้จะทำยังไง เราก็ช่วยเขาที่สุดแล้วนะ สิ่งที่ดีที่สุดที่อาจารย์ภูมิใจก็คือ เสื้อสวย นักเรียนรวย ชื่นใจ บางคนน่าชื่นใจ เสื้อผ้าเขาออกมาสวย เราปั้นมากับมือ ไม่ได้จ้างคนอื่นสอน สอนเอง การเป็นครูนี่ยาก แต่อาจารย์ก็มีความสุขกับการเป็นครู เมื่อก่อนตอนหนุ่มๆ ก็คิดว่าหาเงินเยอะๆ ดีกว่า แต่หลังจากมีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว ก็คิดว่าเงินทองไม่สำคัญแล้วเพราะเรามีพอกิน มีอพาร์ตเม้นต์ให้เขาเช่าแล้ว อยากทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นครูที่ดี เท่านั้นก็พอใจแล้ว ถ้าเป็นช่างตัดเสื้อ เราเอาใจลูกค้าเฉพาะคน แต่นี่เราให้ทุกคน มีความสุขกว่า”
ปัจจุบันอาจารย์ปกรณ์อายุ ๖๕ ปี และคาดว่าจะเกษียณตัวเองเมื่ออายุ ๗๐ ปี หากไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ อาจารย์เล่าถึงชีวิตในวันนั้นว่า
“ตอนนี้อาจารย์ก็ดูแลคุณแม่ซึ่งป่วยอยู่ ตกเย็นก็ต้องไปหาข้าวให้แม่กิน กับข้าวใครทำก็ไม่อร่อย ต้องให้ลูกชายทำ ถ้าไม่ได้ไปก็ทำกับข้าวส่งไป คุณพ่ออาจารย์เสียไปนานแล้ว คุณแม่ท่านแต่งงานใหม่ อาจารย์ก็แต่งงานแล้ว มีลูกชายสองคน ตายไปคนหนึ่งเมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว ทิ้งหลานไว้ให้ปู่เลี้ยง ๒ คน คนโตก็แต่งงานแล้ว แต่ไม่มีลูก อย่ามีเลย ปู่เหนื่อย (หัวเราะ) ตอนนี้ให้เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา”
ในท้ายบทสนทนา เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นช่างตัดเสื้อ และนักออกแบบเสื้อที่ดี อาจารย์ปกรณ์ยิ้มแล้วกล่าวว่า...
“ถ้าเขาอยากเป็นแล้วก็ไม่ต้องแนะนำ เขาจะเป็นเอง ส่วนมากถ้าคนที่ไม่เป็นเลย แนะนำว่าต้องไปคิดให้ดี เส้นทางนี้ยาก ไม่ง่าย ทำเสื้อนี้ยากมาก ละเอียด ไม่ใช่บอกว่าเข้ามาเถอะ สอนง่าย เป็นเร็ว สามเดือนเป็น ไม่ใช่ ทำเสื้อผ้าที่เรียนยากนะ ต้องรัก ต้องละเอียด ต้องมีใจ ใครที่บอกว่า สามเดือนที่อื่นเขาสอนได้ ที่สอนไม่ได้ ๕ เดือนยังไม่รู้จะรอดหรือเปล่า ผู้ปกครองบางคนมากับลูกสาว เรียนง่ายไหมครับ ไม่ง่ายครับ ยาก ถ้าลูกคุณไม่ตั้งใจ อย่าเรียน
คนที่จะเป็นช่างตัดเสื้อ ก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ต้องมีความมุ่งมั่น แต่เสื้อผ้าเป็นเรื่องยากตรงที่เป็นสิ่งที่เราต้องสวมใส่ อย่างทำผม ซอยสั้นบ้างเขาไม่รู้ แต่เสื้อผ้ามันต้องเปรี๊ยะ ไหล่ ช่วงอกต้องพอดี คนทำต้องละเอียดมาก ยิ่งต้องการเสริมบุคลิกยิ่งยาก ทำเสื้อให้สวยทำยาก ทำเสื้อชุ่ยๆทำง่าย แต่ถ้าเก่งแล้วกินไม่หมด กินได้จนตาย จนไม่มีแรงจะตัดนั่นแหละ ต่อให้อยู่ในซอย อยู่ในบ้าน คนก็ตามมาตัดกันเยอะแยะ ลูกศิษย์อาจารย์บางคนไม่ได้เปิดหน้าร้าน อยู่ในบ้านนี่แหละ รับงานต้องรอ ๓ เดือน งานแน่นมาก”
แม้ไม่ใช่ช่างเสื้อ ไม่ใช่ลูกศิษย์ของอาจารย์ปกรณ์ แต่ก่อนจากันวันนั้น อาจารย์ได้มองหนังสือเล่มหนึ่งให้ นั่นคือ หนังสือ “คู่มือทฤษฎีการออกแบบเสื้อผ้า” เขียนโดย อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร นอกจากความรู้ในเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าอันเป็นเสมือน “ขุมทรัพย์นับแสนนับล้าน” สำหรับผู้ที่สนใจวิชาชีพนี้แล้ว เมื่อเปิดไปยังคำนำจะพอถ้อยคำที่อาจารย์ได้เขียนถึงจุดมุ่งหมายหลักในการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า
“ประการที่หนึ่ง เพื่อเป็นคู่มือในการประกอบอาชีพสำหรับผู้มีอาชีพออกแบบเสื้อ... ประการที่สอง จัดทำขึ้นเพื่อแจกในงานกุศลต่างๆเป็นวิทยาทานตามแต่จะมีผู้แจ้งความประสงค์มา โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนได้ถึงแก่กรรม นั่นคือเจตนารมณ์อันแท้จริงของผู้เขียน”
อีกหนึ่งคำขวัญที่เขียนไว้บนฝาผนังของโรงเรียนปกรณ์ฯ นั่นคือ “พลัง” ที่สัมผัสได้แท้จริง... คำขวัญที่ว่า “สุขใดเสมอการให้ ไม่มี”

************************************************************